# 101 เตือนภัยไวรัสจากเพื่อนในเอ็มเอสเอ็น
10 กันยายน 2550 - 16 กันยายน 2550
เอ็มเอสเอ็น (MSN Messenger) คือโปรแกรมที่ช่วยในการสื่อสาร หรือสนทนาออนไลน์ที่มีประสิทธิภาพ สามารถเลือกแบบไม่เสียค่าใช้จ่ายให้กับบริษัทผู้พัฒนาในการนำโปรแกรมมาใช้ เป็นที่นิยมจนอาจกล่าวได้ว่าผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทุกคนรู้จักโปรแกรมเอ็มเอสเอ็น การรู้จักใช้โปรแกรมเอ็มเอสเอ็นในทางที่ถูก สมเหตุสมผลอาจสร้างคุณประโยชน์ได้อย่างเอนกอนันต์ แต่ถ้าไม่รู้จักใช้ก็อาจเกิดโทษมหันต์ อาทิ นักศึกษาแชท(Chat)กับเพื่อนเพลินจนไม่ออกจากหอพักไปเรียนหนังสือ หรือแอบแชทระหว่างเรียนผ่านโทรศัพท์(Smart Phone)จนไม่ฟังครูสอน เจ้าหน้าที่ในบริษัทแชทเพลินจนไม่ตั้งใจทำงาน ให้เวลากับงานน้อยลง หรือมีเวลาว่างมากจนสามารถหาเพื่อนแปลกหน้าจากอินเทอร์เน็ตมาเป็นเพื่อนสนิทได้
นโยบายของบริษัทหรือสถาบันการศึกษาบางแห่งปฏิเสธการให้บริการโปรแกรมบางประเภทแก่สมาชิกในองค์กร บางแห่งยกเลิกการให้บริการอินเทอร์เน็ตเพราะไม่เห็นความจำเป็น หรือให้บริการเฉพาะที่มีประสิทธิผลต่อองค์กร อาทิ จำกัดโปรแกรมที่ไม่จำเป็นต่อองค์กร จำกัดบริการเพื่อรักษามาตรฐานความปลอดภัย หรือจำกัดการใช้ทรัพยากรเพื่อให้ทุกคนเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมกัน ตัวอย่างการปฏิเสธบริการในองค์กร เช่น ไม่บริการโปรแกรมบิททอร์เร้นท์ (Bittorent) บล็อกเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสม จำกัดเวลาการใช้งานของผู้ใช้บางกลุ่ม หรือจำกัดความเร็วในการรับส่งข้อมูล ถ้าไม่จำกัดอาจมีพนักงานบางท่านดาวน์โหลดภาพยนต์จากอินเทอร์เน็ตเขียนลงซีดี แล้วนำกลับไปสะสมไว้ที่บ้าน
ไวรัสจากโปรแกรมเอ็มเอสเอ็นเป็นภัยเงียบที่ระบาดในองค์กรจนสร้างความเสียหายได้ง่าย เพราะในรายชื่อผู้ติดต่อ(Contact List) ที่อยู่ในโปรแกรมเอ็มเอสเอ็น ล้วนเป็นผู้ที่ได้รับความไว้วางใจจากเจ้าของบัญชี (Account Owner) หากไวรัสแอบใช้ชื่อเพื่อนสนิทส่งแฟ้มข้อมูลมาให้ ผู้รับมักดาวน์โหลด(Download)เข้าเครื่องคอมพิวเตอร์ด้วยความไว้วางใจ กว่าจะรู้ตัวก็ติดไวรัสตัวไปแล้ว และโปรแกรมแอนตี้ไวรัส(Antivirus Program) ก็มักไม่รู้จักไวรัสที่มาใหม่ เพื่อนสนิทที่ส่งไวรัสให้ผู้รับก็ไม่ทราบด้วยซ้ำว่าเกิดอะไรขึ้น ทางป้องกันคืออย่าไว้ใจใคร ทางแก้ไขคือค้นหาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต และแก้ไขไปตามวิธีที่สะดวกที่สุด
ถ้าไม่สามารถเลิกใช้โปรแกรมเอ็มเอสเอ็นก็ต้องหาวิธีป้องกัน วิธีแรกคือปรับปรุงรุ่นของโปรแกรมเอ็มเอสเอ็นไม่ให้เป็นเหยื่อของไวรัสด้วยการดาวน์โหลดและติดตั้งแทนของเดิม วิธีที่สองคือปรับรุ่นของโปรแกรมป้องกันไวรัสอยู่เสมอ วิธีที่สามคืออ่านข่าวสารข้อมูลด้านไอทีอยู่เสมอ เพราะข่าวสารเหล่านั้นจะทำให้เรารู้เท่าทันภัยคุกคามที่เปลี่ยนรูปแบบเข้ามาทำร้ายข้อมูลในเครื่องคอมพิวเตอร์ของเราอยู่ตลอดเวลา ถ้าถูกคุกคามไม่ว่าจากไวรัสคอมพิวเตอร์(Virus Computer) หรือสปายแวร์(Spyware) ก็ต้องหาวิธีป้องกัน หรือแก้ไขในทันทีจากคำแนะนำที่ได้จากเว็บไซต์ หาข้อมูลเพิ่มเติมที่ google.com และหวังว่าท่านจะไม่ปล่อยให้วัวหายแล้วค่อยล้อมคอก จึงแนะนำไว้ก่อนว่ากันไว้ดีกว่าแก้ เพราะแย่แล้วจะแก้ไม่ทัน