ใบหน้าของเราไม่ใช่ของสาธารณะ
 
#551 ใบหน้าของเราไม่ใช่ของสาธารณะ

    ในอดีตที่เรายังไม่มีอินเทอร์เน็ตจะสื่อสารระหว่างมนุษย์ได้ยาก ส่งข้อมูลเร่งด่วนต้องใช้โทรเลข แต่โทรเลขได้ยุติลง วันสุดท้ายที่บริการคือ 30 เมษายน 2551 แล้วถูกแทนที่ด้วยเครื่องมือสื่อสารที่หลากหลาย ยิ่งมนุษย์เราสื่อสารได้สะดวกเท่าใด ความเป็นส่วนตัวก็ยิ่งถูกรุกล้ำมากขึ้น ขณะนี้ข้อมูลของเรามากมายอาจถูกสืบค้นได้จากอินเทอร์เน็ต มีผู้ที่ช่วยเผยแพร่ข้อมูลของเรา อาทิ ส่วนราชการ หน่วยงานที่ทำงานให้ เพื่อนของเรา หรือตัวเราเอง แต่มีผู้นำข้อมูลของเราไปเผยแพร่ได้ไกลมาก คือ ผู้ให้บริการโซเชียลมีเดียที่นำทีมโดยเฟสบุ๊ค (Facebook.com)

    ในอดีตจะไม่มีใครค้นหาเราพบด้วยเครื่องมือโบราณ แต่ปัจจุบันเพียงใส่ชื่อของเราเข้าไปในระบบสืบค้น ก็จะมีข้อมูลมากมายไหลออกมา มีประเด็นฟ้องร้องเรื่องความเป็นส่วนตัวมากมาย แต่เมื่อใดที่เราไม่ได้รับความเดือดร้อนก็คงจะไม่ตระหนักถึงการรักษาความเป็นส่วนตัว หลายปีก่อนส่วนราชการเคยเปิดให้สืบค้นหาข้อมูลบุคคลตามหมายเลขบัตรประชาชน และค้นข้อมูลการสมรสได้ แต่บริการข้างต้นได้ยุติการให้บริการแก่บุคคลทั่วไปแล้ว เพราะมีประเด็นเรื่องความเป็นส่วนตัวเข้ามาเป็นประเด็น สำหรับประเทศไทยมีองค์กรที่ชื่อ เครือข่ายพลเมืองเน็ต มูลนิธิเพื่ออินเทอร์เน็ตและวัฒนธรรมพลเมือง (ThaiNetizen) เป็นองค์กรหนึ่งที่ให้ความสนใจเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัวของพลเมืองเน็ต ได้แปลและเขียนบทความเผยแพร่มีประเด็นให้ต้องตระหนัก อาทิ เว็บไซต์กว่าร้อยละ 90 ได้ปล่อยให้ข้อมูลของผู้ใช้รั่วไหลไปถึงบุคคลภายนอก หรือการแสดงความไม่เห็นด้วยต่อความพยายามสอดแนมของภาครัฐในปี 2558 อาทิ ซิงเกิลเกตเวย์

    สำหรับบริการ Faceprint ได้ถูกนำมาพูดคุยในประเด็นทางกฎหมายที่ประเทศอเมริกา เพราะการใช้เฟสบุ๊คมีบริการค้นหาใบหน้าและเสนอการแท็กใบหน้าของผู้คนในภาพให้อัตโนมัติ เมื่อเราส่งภาพบุคคลเข้าไปในอัลบั้ม มีผู้ใช้กลุ่มหนึ่งไม่เห็นด้วยกับบริการนี้ ที่ใบหน้าของพวกเขาถูกตรวจพบได้ในระบบ มีข้อมูลอีกมากมายที่หลายคนคิดว่าเป็นเรื่องส่วนตัวและไม่ควรเผยแพร่ เช่น วันเกิด ที่อาจมีเพื่อนถือเค้กวันเกิดเข้าไปสร้างความประหลาดใจ หรือข้อมูลปีที่สำเร็จการศึกษา การเป็นศิษย์เก่าโรงเรียน หรือมหาวิทยาลัยเดียวกัน ก็อาจมีมิจฉาชีพนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์เพื่อการหลอกลวงเหยื่อ หรือเพื่อนเหยื่อ การแสดงรายชื่อ Mutual friend หมายถึงเพื่อนที่มีตรงกัน หรือสนใจสิ่งเดียวกัน ก็กลายเป็นข้อมูลสาธารณะที่อาจมีบางท่านไม่ต้องการเปิดเผย หรือให้นำไปเผยแพร่ต่อ

https://thainetizen.org/2016/02/gov-surveillance/
https://thainetizen.org/2016/03/health-privacy-online/
http://www.cnet.com/news/facebooks-newest-privacy-problem-faceprint-data/
http://www.cnet.com/news/facebooks-newest-privacy-problem-faceprint-data/
บทความเมื่อเร็ว ๆ นี้
552. สังคมไม่ยอมรับการทุจริตสอบ
551. ใบหน้าของเราไม่ใช่ของสาธารณะ
550. ซื้อตั๋วหนังผ่านแอพบนสมาร์ทโฟน
549. การยืนยันตัวตนก็เพื่อความปลอดภัย
ค้นในบทความ
กลับหน้าแรก
Thaiall.com