#588 หลักสูตรอะไรที่ตรงใจนายจ้างและนักเรียน
ช่วงต้นปี 2560 นักเรียนในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 กำลังหาที่เรียนในระดับปริญญาตรีมีจำนวนกว่าสองแสนคนในแต่ละปีและลดลงอย่างต่อเนื่องตามสถิติการเกิด ส่วนหนึ่งได้ที่เรียนแล้วจากระบบโควตา รับตรง และโครงการพิเศษ ก็เหลือแต่รอบแอดมิชชั่นที่เป็นรอบใหญ่ที่สุดยังอยู่ในกระบวนการและอีกหลายเดือนจึงจะประกาศผล ปัจจัยสำคัญที่จะได้ที่เรียนกับสาขาวิชาที่ใช้ ในสถาบันที่ชอบ คือ เกรดเฉลี่ยระหว่างเรียน และคะแนนสอบของนักเรียน ที่มีทั้งผลสอบตรง สอบ GAT PAT สอบ O-Net หรือวิชาสามัญ 9 วิชา
มีการจัดอันดับสาขา หรือหลักสูตรที่น่าสนใจออกมาตามสื่อเป็นประจำทุกปี แล้ว AdmissionPremium.com ได้เสนอข้อมูลของ NACE ( The National Association of Colleges and Employers) ที่ใช้แบบสอบถามสำรวจนายจ้างกว่า 169 บริษัท ว่ามีแผนจ้างคนที่จะสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีในปลายปี 2017 นี้อย่างไร พบว่า อันดับ 1 คือ การเงิน อันดับสอง คือ บัญชี ตามมาด้วย บริหารธุรกิจ วิทยาการคอมพิวเตอร์ วิศวกรรมเครื่องกล ระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการ สารสนเทศศาสตร์ โลจิสติกส์และซัพพลายเชน วิศวกรรมไฟฟ้า และเศรษฐศาสตร์ หากดูจากสาขาวิชาทั้ง 10 ก็จะสะท้อนกลับไปว่า บริษัทที่ตอบแบบสอบถาม น่าจะเป็นบริษัทที่ทำธุรกิจเป็นส่วนใหญ่ ไม่ได้สำรวจจากโรงพยาบาล โรงเรียน สถานีตำรวจ หน่วยงานราชการ เทศบาล หรือมูลนิธิการกุศล เพราะองค์กรแต่ละประเภทก็จะต้องการบุคลากรแตกต่างกันไป
จากผลสำรวจ 10 อันดับสาขาวิชาที่จะจ้างงานกันมาก พบว่า สาขาด้านไอทีเข้าไปอยู่ในรายการนี้ถึง 3 อันดับ คือ วิทยาการคอมพิวเตอร์ ระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการ และสารสนเทศศาสตร์ แต่สาขาด้านบริหารธุรกิจเข้าไปถึง 5 อันดับ คือ การเงิน บัญชี บริหารธุรกิจ โลจิสติกส์ฯ และเศรษฐศาสตร์ บางสถาบันรวมระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการเข้าไปในสายบริหารธุรกิจด้วย จากประสบการณ์ของผู้เขียน พบว่า ความต้องการเรียนของนักเรียนไทยในสายบริหารจะเรียนสาขาบัญชีจำนวนมาก สอดรับกับความต้องการของตลาดแรงงาน ปัจจุบันมีการควบคุมหลักสูตรโดยสภาวิชาชีพบัญชี ทำให้การสอนด้านบัญชีเป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ ซึ่งเชื่อได้ว่าจบบัญชีแล้ว ทำบัญชีได้แน่นอน ส่วนสภาวิชาชีพไอทียังไม่ชัดเจน ต้องรอกันต่อไป
http://www.admissionpremium.com/news/1798
http://www.naceweb.org/surveys/job-outlook.aspx